top of page

Generational Diversity

ทำไมเราถึงเห็นเด็กสมัยนี้ไม่เหมือนตัวเอง?

“เด็กสมัยนี้…”

 

        ประโยคคุ้น ๆ ที่ไม่ว่าคุณจะอยู่เจนไหนก็น่าจะเคยได้ยินกันมาบ้าง เจน Z เป็น เด็กสมัยนี้ของเจน Y ส่วนเจน Y ก็เป็นเด็กสมัยนี้ของเจน X และเจน X ก็เคยเป็นเด็กสมัยนี้ของ Baby Boomers มาก่อน แล้วทำไม ‘เด็กสมัยนี้’ ถึงมักทำให้คนรุ่นก่อนรู้สึกขัดใจล่ะ? หรือว่าเป็นเพราะความแตกต่างระหว่างเจนเนอเรชั่นที่ทำให้มุมมองในการทำงานและการใช้ชีวิตต่างกันออกไป? 

 

        คำว่า Generational หมายถึงกลุ่มคนที่เกิดในช่วงปีใกล้เคียงกัน แบ่งออกเป็น Baby Boomers, Gen X, Gen Y (หรือ Millennials) และ Gen Z ซึ่งแต่ละเจนมีความเป็นมาที่สะท้อนถึงสังคมและสถานการณ์ในช่วงเวลานั้น ๆ ทำให้พวกเขามีมุมมองและค่านิยมที่แตกต่างกัน นี่จึงเป็นที่มาของ Generational Diversity ซึ่งสะท้อนถึงการอยู่ร่วมกันในที่ทำงานหรือสังคมของผู้คนต่างเจน มาลองทำความเข้าใจกันว่าแต่ละเจนมีลักษณะและมุมมองอย่างไร 

 

        Baby Boomers (1946-1964): คนเจนนี้เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หลายคนเติบโตมากับครอบครัวที่เผชิญเศรษฐกิจตกต่ำและการฟื้นฟูประเทศ ทำให้พวกเขาให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางการงานและการทำงานแบบมีระบบ พวกเขามักให้ค่ากับยศฐาบรรดาศักดิ์ เชื่อในระบบอาวุโสและวิธีการทำงานแบบเดิม ๆ จึงไม่แปลกที่เจนนี้จะมองเด็กสมัยนี้อย่างเจนที่อายุน้อยกว่าด้วยความระมัดระวังและคาดหวังให้เคารพในประสบการณ์ของตน 

 

        Gen X (1965-1980): เจนนี้เติบโตมากับภาพจำของพ่อแม่ที่ทำงานหนักและหวังจะมีชีวิตที่มั่นคง แต่กลับต้องเจอวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้พวกเขาให้ความสำคัญกับความสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัวมากกว่า Baby Boomers คน เจน X มักทำงานเป็นอิสระและสามารถปรับตัวได้ดี เจน X ที่เติบโตมากับสังคมที่เน้นการทำงานหนักเพื่อความมั่นคงและการเตรียมพร้อมเผื่ออนาคต มักจะมีมุมมองต่อการทำงานและการใช้ชีวิตที่ยึดหลักความรับผิดชอบและความขยันเป็นสำคัญ เมื่อพวกเขาเห็นเจนที่อายุน้อยกว่ามีการใช้ชีวิตและทำงานในแบบที่ต่างออกไป จึงอาจรู้สึกว่าคนรุ่นใหม่ดูขาดความจริงจังหรือไม่มีความอดทนในมุมมองของพวกเขา 

        Gen Y (Millennials) (1981-1994): เจนนี้เติบโตมากับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี พวกเขามีความคิดสร้างสรรค์และต้องการความยืดหยุ่นในที่ทำงาน รักความท้าทาย ต้องการงานที่มีความหมาย แม้จะกล้าคิดขบถในบางครั้งแต่ยังมีความเกรงใจต่อเจนก่อนเพราะถูกเลี้ยงดูมาด้วยการให้ความสำคัญกับระบบอาวุโส เจน Y จึงมักมองว่าตนเองเป็นเจนที่อยู่กึ่งกลางระหว่างเจน X และเจน Z พวกเขาเข้าใจมุมมองของคนเจน X ที่เคร่งครัดกับการทำงาน แต่ก็เห็นด้วยกับการมีอิสระในการทำงานของเจน Z ทำให้พวกเขารู้สึกว่าเจน Z ซึ่งเติบโตมาในยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบนั้น มีการทำงานและใช้ชีวิตที่อิสระมากเกินไปจนบางครั้งก็มองว่าไม่โอเค 

 

        Gen Z (1995-2009): เจนนี้ถือว่ามีความหลากหลายสูงสุดในทุก ๆ ด้าน พวกเขาให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตอย่างสมดุลและต้องการงานที่มอบทั้งความหมายและ well-being มากกว่าความมั่นคงหรือชื่อเสียงอย่างที่เจนก่อน ๆ มองว่าเป็นสิ่งสำคัญ พวกเขามีความกล้าที่จะพูดและแสดงออก ซึ่งอาจทำให้บางครั้งเจนนี้ถูกมองว่าหัวขบถเกินไป แต่จริง ๆ แล้วพวกเขาเพียงต้องการแสดงจุดยืนและการสนับสนุนในเรื่องความหลากหลายและความเท่าเทียม 

 

      เมื่อแต่ละเจนเติบโตมาในบริบทสังคมที่แตกต่างกัน การมองคนเจนอื่น ๆ ผ่าน "เลนส์ของยุคตัวเอง" จึงอาจทำให้เกิดความไม่เข้าใจและขัดแย้ง คนรุ่นก่อนมักคาดหวังว่าเด็กรุ่นใหม่ควรทำตัวเหมือนพวกเขาในช่วงวัยเดียวกัน จึงเกิดเป็นความคาดหวังในเรื่องของความตรงต่อเวลา การเคารพผู้อาวุโส ความขยัน ฯลฯ แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง จะเห็นว่าเด็กเจนใหม่ก็เพียงแต่แสดงออกในแบบของพวกเขาที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง และมีมุมมองเรื่อง work-life balance ที่แตกต่างไปจากเดิม 

 

        แทนที่จะตัดสินคนรุ่นอื่นด้วยกรอบความคิดของเรา เราควรลองมองหาสิ่งดี ๆ ที่แต่ละเจนมี เพื่อสร้างความเข้าใจและเคารพซึ่งกันและกัน การยอมรับในความแตกต่างของแต่ละเจนจะช่วยให้ทุกคนทำงานร่วมกันได้อย่างมีความสุขและประสบความสำเร็จ 

#Howtochange #H2C #GenerationalDiversity

อ้างอิง: https://www.trinet.com/insights/generations-in-the-workplace-boomers-gen-x-gen-y-and-gen-z-explained 

 

7 November 2024

bottom of page